วันพฤหัสบดีที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2551

test

test

วันพุธที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร

ในบรรดาพระโพธิสัตว์ตามความเชื่อฝ่ายมหายาน พระอวโลกิเตศวร เป็นพระโพธิสัตว์ที่ได้รับการบูชาแพร่หลายมากที่สุด และเป็นที่คุ้นเคยแม้กระทั่งต่อชาวพุทธฝ่ายเถรวาทแบบบ้านเราเองมาช้านาน
สำเนียงจีนเรียกพระองค์ว่า กวนอิม,ญี่ปุ่นเรียก กันนอน,ทิเบต เรียก เชนเรซิก

พระองค์เป็นพระโพธิสัตว์แห่งความเมตตา(ในเชิงธรรมาธิษฐานคือพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า) ทรงตั้งปณิธานที่จะไม่เสด็จเข้านิพพานจนกว่าจะช่วยสรรพสัตว์ทั้งหลายให้พ้นจากความทุกข์ พระนามของพระองค์ปรากฏในพระสูตรมหายานสำคัญๆ เช่นปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตร,สัทธรรมปุณฑริกสูตร เป็นต้น

แม้ว่าในภาวะของโพธิสัตว์ มักถือกันว่า ไม่เป็นทั้งเพศบุรุษหรือสตรี แต่รูปศิลปะแรกๆของพระองค์ในอินเดีย มักแสดงความเป็นเพศชาย ในขณะที่เมื่อการบูชาพระองค์แพร่หลายเข้าไปในประเทศจีน แรกนั้นนายช่างก็แสดงรูปของพระองค์เป็นบุรุษอยู่ ต่อมาในสมัยหลังเมื่อตำนานพื้นเมืองของจีนเอง เรื่องพระธิดาเมี่ยวซันแห่งอาณาจักรซินหลิง ซึ่งถือว่าเป็นชาติก่อนที่พระองค์จะได้เป็นพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ รูปของพระองค์ได้แสดงลักษณะของสตรีเพศอย่างชัดเจน กลายเป็น เจ้าแม่กวนอิม ที่รู้จักกันดี


พระอวโลกิเตศวร ปางปัทมปาณิ(ผู้ถือดอกบัว) จิตรกรรมที่ผนังถ้ำอชันตา หมายเลข1 ศิลปะคุปตะตอนปลาย หรือหลังคุปตะ(พุทธศตวรรษที่12)
ถือกันว่าเป็นงานจิตรกรรมที่งดงามที่สุดภาพหนึ่งของประวัติศาสตร์ศิลปะอินเดีย


พระอวโลกิเตศวร ศิลปะอินเดีย สมัยปาละ(พุทธศตวรรษที่16)สังเกตบนมงกุฏทรงรูปพระอมิตาภะไว้เสมอ เป็นสัญลักษณ์ส่วนตัวของพระอวโลกิเตศวรแต่เพียงผู้เดียว(Mr. and Mrs. John D. Rockefeller 3rd Collection of Asian Art)


ปัทมปาณิ ศิลปะเนปาล ราวพุทธศตวรรษที16 แสดงการยืนแบบตริภังค์(เอียงสามส่วน)ที่เป็นท่ายืนคลาสสิคของศิลปะอินเดีย
(Metropolitan Museum of Art)


พระอวโลกิเตศวร ศิลปะเขมร สมัยพระนคร ราวพุทธศตวรรษที่15-16 เล็กๆบนพระเศียรคือรูปพระอมิตาภะ
(Metropolitan Museum of Art)


พระอวโลกิเตศวร ศิลปะชวาภาคกลาง ราวพุทธศตวรรษที่13-14(Musée national des Arts asiatiques-Guimet)


พระปัทมปาณิ ศิลปะศรีวิชัย ราวพุทธศตวรรษที่13 พบที่ไชยา องค์คลาสสิคและงดงามที่สุดของไทย


พระอวโลกิเตศวร ในปางที่พบบ่อยในศิลปะทิเบต ทรงแก้วมณีสัญลักษณ์ของโพธิจิตในสองพระหัตถ์หน้า อีกสองพระหัตถ์ทรงมาลา(ประคำ)สัญลักษณ์แห่งการปฏิบัติ และดอกบัวสัญลักษณ์แห่งความบริสุทธิ์ พระอังสะซ้ายมีหนังกวางพาดลงมา สัญลักษณ์ของความอ่อนโยนและเมตตาต่อสรรพสัตว์
"ษฑักษรีโลเกศวร" หมายถึงพระอวโลกิเตศวรแห่งหกอักษร(ในที่นี้คือพยางค์)อันเป็น มนตร์ประจำพระองค์ที่ชาวทิเบตท่องได้ทุกผู้คน "โอม มณี เปมา ฮูง" หรือสันสกฤตว่า "โอม มณี ปัทเม หูม"


พระอวโลกิเตศวรหนึ่งพันแขน สิบเอ็ดเศียร (สหัสรภุช เอกทศมุข)ศิลปะทิเบต พระหัตถ์และเศียรมากมาย หมายถึงพระปณิธานที่จะช่วยสรรพสัตว์ทุกชีวิตให้พ้นจากความทุกข์


พระกวนอิมพันกร ในศิลปะจีน


พระกวนอิมพันกร ในไต้หวัน พระกรมากมายเหลือคณานับ


พระกวนอิม สมัยซ่ง ราวพุทธศตวรรษที่16-17 ทำด้วยไม้ลงสีสวยงามเป็นที่สุด ปัจจุบันอยู่ใน Nelson-Atkins Museum,Kansas City


เจ้าแม่กวนอิมทรงมังกร ศิลปะจีนร่วมสมัย


เซนจู กันนอน(พระอวโลกิเตศวรพันหัตถ์) ศิลปะญี่ปุ่นสมัยเฮอัน พุทธศตวรรษที่17 (Tokyo National Museum)


"โอม มณี เปมา ฮูง" มนตราที่พบได้ทั่วไปในทิเบต ทั้งสลักไว้ตามหิน เขียนไว้ตามทาง จารึกบนกระบอกมนตร์ และอีกมากมาย


กระบอกมนตร์แบบดิจิตอล จากเว็บ http://www.dharma-haven.org

วันพฤหัสบดีที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

พระไมเตรยพุทธเจ้า (เมตไตรยพุทธ)

พระพุทธเจ้าพระองค์ต่อไปที่จะมาตรัสรู้ในภัทรกัลป์นี้ ในพระไตรปิฎกปรากกฏที่พระพุทธเจ้าตรัสเรื่องนี้ไว้สั้นๆใน จักกวัตติสูตร และ พุทธวงศ์ พุทธปกิรณกกัณฑ์ ส่วนในคัมภีร์ชั้นหลังมีกล่าวไว้มากแห่ง เช่นในอนาคตวงศ์ แต่งโดยพระกัสสปะเถระชาวอินเดียใต้ราวพุทธศตวรรษที่18 หรือในอมตรสธาราเป็นต้น
ในงานพุทธศิลปะทิเบต มีทั้งที่แสดงภาพพระองค์ในฐานะของพระพุทธเจ้าและฐานะพระโพธิสัตว์
มีสัญลักษณ์คือ
-พระสถูปบนศีรษะหรือบนมงกุฏสัญลักษณ์แทนการเคารพแด่พระศากยมุนีพุทธเจ้า หรือบ้างก็ว่าเป็นสัญลักษณ์ของพระสถูปที่เก็บบริขารไว้ภายในและจะทรงได้รับเมื่อทรงออกผนวชในชาติที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า
-ธรรมจักร์ แสดงถึงการประกาศพระธรรม
-หม้อน้ำ หรือแจกัน ซึ่งบรรจุน้ำอมฤต สัญลักษณ์ของการรักษาไว้ซึ่งพระธรรมอันบริสุทธิ์


พระไมเตรยโพธิสัตว์ สวมมงกุฏพระพุทธเจ้าห้าพระองค์ สูงประมาณ15เมตร พระดำริสร้างโดยองค์ดาไลลามะที่14 เมื่อปี2523
เมื่อครั้งเสด็จที่วัด ถิกเซ


พระไมเตรยโพธิสัตว์ ศิลปะทิเบต


พระไมเตรย ศิลปะมองโกล ยังคงรูปพระสถูปและหม้อน้ำเป็นสัญลักษณ์


พระไมเตรยในรูปของพุทธเจ้า ศิลปะทิเบต ราวพุทธศตวรรษที่23(The Norton Simon Museum)


พระไมเตรยโพธิสัตว์ ศิลปะคันธาระราวพุทธศตวรรษที่7 สังเกตหม้อน้ำที่ปรากฏเสมอ


ในศิลปะมถุรา ซึ่งมีความเป็นอินเดียแท้มากกว่าคันธาระก็ใช้สัญลักษณ์เดียวกัน คือมีหม้อน้ำเล็กๆที่พระชานุ(เข่า)


มิโรกุ โบสัตซึ หรือพระไมเตรยโพธิสัตว์ในชื่อญี่ปุ่น ในท่านั่งพิจารณาถึงสรรพสัตว์ เป็นท่าคลาสสิคของพระไมเตรยที่นิยมในญี่ปุ่น
(จากวัดชูคูจิ ราวพุทธศตวรรษที่12)

วันพุธที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2550

พระทีปังกรพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าพระองค์ที่สี่ในสารมัณฑกัลป์ คือนับย้อนจากพระศากยมุนีพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบัน ย้อนขึ้นไป25พระองค์ และเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์แรกที่พยากรณ์พระศากยมุนีพุทธเจ้า เมื่อครั้งยังเสวยชาติเป็นโพธิสัตว์ชื่อ สุเมธดาบส ว่าจะได้เป็นพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคต
"....เราสยายผมแล้วเอาผ้าคากรองและหนังสัตว์ลาดลงบนเปือกตม นอนคว่ำลง ณ ที่นั้น ด้วยคิดว่า พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระสาวก จงทรงเหยียบเราเสด็จไปเถิด อย่าทรงเหยียบเปือกตมนั้นเลย ข้อนั้นจักเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่เรา เมื่อเรานอนอยู่ที่พื้นดิน ได้มีความคิดอย่างนี้ว่า เรา(มิได้)ปรารถนาว่า วันนี้ พระพุทธเจ้าพึงทรงเผากิเลสของเราประโยชน์อะไรแก่เราด้วยเพศที่ใครๆ ไม่รู้จัก และด้วยการทำให้แจ้งซึ่งธรรม ณ ที่นี้ เราพึงบรรลุสัพพัญญุตญาณหลุดพ้นแล้วพึงเปลื้องหมู่สัตว์พร้อมทั้งเทวดาให้หลุดพ้นเถิด ประโยชน์อะไรด้วยเราผู้เป็นคนมีกำลังจะข้ามไปคนเดียวเล่า เราบรรลุสัพพัญญุตญาณได้ และจะช่วยหมู่ชนให้ข้ามได้เป็นอันมาก...."
"....พระพุทธทีปังกรผู้ทรงรู้แจ้งโลก ผู้สมควรรับเครื่องบูชาประทับยืนอยู่เหนือศีรษะเรา ตรัสพระดำรัสว่า ท่านทั้งหลายจงดูชฎิลดาบสผู้มีตบะอันรุ่งเรืองนี้ เขาจักได้เป็นพระพุทธเจ้าในโลกในกัปอันประมาณมิได้แต่กัปนี้...."
(พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ทีปังกรพุทธวงศ์)


สุเมธดาบส สยายผมลงบนโคลนให้พระทีปังกรพุทธเจ้าเสด็จเหยียบข้ามไป ประติมากรรมศิลปะคันธาระ ปัจจุบันอยูที่พิพิธภัณฑ์กรุงคาบูล อัฟกานิสถาน


พระทีปังกรพุทธเจ้าศิลปะเนปาล พุทธศตวรรษที่22-23 พิพิพธภัณฑ์ปาตาน,เนปาล
ในเนปาล บางครั้งถือว่าพระทีปังกรพุทธเจ้าเทียบเท่ากับอาทิพุทธพระองค์หนึ่ง และยังเป็นพระผู้คุ้มครองในอาชีพค้าขายด้วย ดังนั้นจึงมีการบูชาพระองค์กันอย่างแพร่หลาย

วันจันทร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2550

นิรมาณกาย

นิรมาณกายคือกายที่สามและท้ายสุดแห่งการเนรมิตพระองค์ของพระพุทธเจ้าในระบบตรีกาย กายนี้คือกายแห่งมนุษย์หรือที่เรารู้จักกันดีคือพระศากยมุนีพุทธเจ้า(สักกยมุนึพุทธเจ้า)หรือพระอดีตพุทธเจ้าพระองค์ก่อนก็ตาม* เป็นพระวรกายที่ใช้โปรดสัตว์โลกที่ยังข้องอยู่ด้วยกิเลส
*(แม้จะมีจำนวนมากจนไม่อาจนับได้ แต่ในพระไตรปิฎกระบุไว้27พระองค์ ซึ่งมีเพียง24พระองค์เท่านั้น ที่พระศากยมุนีพุทธเจ้าเมื่อครั้งยังเป็นโพธิสัตว์อยู่ในชาติต่างๆได้เคยพบและได้รับพยากรณ์ว่าจะได้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต)
พุทธประวัติที่เราทราบกันทั่วไปมักจะเป็นพุทธประวัติจากคัมภีร์ ปฐมสมโพธิ(ฝ่ายเถรวาท) หรือ ลลิตวิตระ,พุทธจริต(ฝ่ายมหายาน)
ซึ่งพุทธประวัติในคัมภีร์เหล่านี้มักแทรกเรื่องปาฏิหารย์เข้าไปมากกว่าที่ปรากฏอยู่จริงในพระไตรปฎก ทั้งนี้เพื่อยังให้เกิดศรัทธาแก่ศาสนิกชน ทั้งนี้ในส่วนของพระไตรปิฎกนั้นพระพุทธองค์ทรงตรัสเล่าถึงพระองค์เองในพระสูตรต่างๆ โดยมีใจความคือพระธรรมที่พระองค์ทรงสอนนั่นเอง
*พุทธประวัติจากพระโอษฐ์ ฉบับเรียบเรียงโดยท่านพุทธทาสภิกขุ
*มหากาพย์พุทธจริต(ฉบับสมบูรณ์,แปลจากต้นฉบับภาษาสันสกฤต)โดย อ.สำเนียง เลื่อมใส จัดพิมพ์โดยศูนย์สันสกฤตศึกษา มหาวิทยาลัยศิลปากร,กรุงเทพฯ 2547
*คัมภีร์ ลลิตวิสตระ มีฉบับแปลโดย อ.แสง มนวิทูร โดยกรมศิลปากรจัดพิมพ์ เก่ามากแล้วไม่มีจำหน่ายและไม่มีโครงการจะพิมพ์ใหม่(หนังสือดีที่ไม่มีคนซื้อ กรมศิลปฯก็ไม่ค่อยอยากจะลงทุนครับ) ดังนั้นหาอ่านได้ตามห้องสมุดมหาวิทยาลัย หรือโชคดีพอผมเคยพบว่าหลุดมาอยู่แผงแถวท่าช้าง!)
พุทธประวัติที่สำคัญและมักปรากฏเป็นหลักคือ ตอนประสูติ,มหาภิเนษกรมณ์(ออกบวช),มารผจญ,ตรัสรู้,ปฐมเทศนาและปรินิพพาน


พุทธประวัติตอนประสูต ศิลปะอมรวดี ราวพุทธศตวรรษที่7 ขวาบนคือพระพุทธมารดาทรงพระสุบิน ขวาล่างคือพระพุทธองค์ประสูติ สังเกตว่าไม่มีรูปพระพุทธเจ้า มีเพียงดอกบัวเป็นฐานอันแสดงไว้ ด้วยเหตุที่นายช่างศิลป์ในสมัยแรกๆนั้นไม่นิยมสร้างรูปพระพุทธเจ้าจริงๆ ใช้เพียงสัญลักษณ์แทน


ในศิลปะคันธาระ นายช่างสร้างรูปพระพุทธองค์ขึ้นแล้ว ทั้งนี้ คันธาระเป็นศิลปะกรีกที่แผ่มาในอินเดีย ช่างกรีกนิยมสร้างรูปเคารพมาแต่ก่อน จึงมีคติที่สามรถสร้างรูปพระพุทธเจ้าได้


พระพุทธรูปปางประสูติแบบนี้เป็นที่นิยมในญี่ปุ่น จีน พระอาการที่ทรงชี้ฟ้าและดินนั้นแสดงตามพระไตรปิฎกที่ทรงตรัสว่า
"ดูก่อนอานนท์! โพธิสัตว์ผู้คลอดแล้วเช่นนี้ เหยียบพื้นดินด้วยฝ่าเท้าอันสม่ำเสมอ มี พระพักตร์ทางทิศเหนือ ก้าวไป ๗ ก้าว, มีฉัตรสีขาวกั้นอยู่ ณ เบื้องบน, ย่อมเหลียวดูทิศทั้งหลาย และ กล่าว อาสภิวาจา ว่า"เราเป็นผู้เลิศแห่งโลก, เราเป็นผู้เจริญที่สุดแห่งโลก, เราเป็นผู้ประเสริฐสุด แห่งโลก. ชาตินี้ เป็นชาติสุดท้าย. บัดนี้ ภพใหม่ย่อมไม่มี" ดังนี้"


ภาพตอนประสูติศิลปะทิเบต


ตอนมหาภิเนษกรมศิลปะอินเดียสมัยราชวงศ์ศาตวาหนะ ราวพุทธศตวรรษที่3 มีเพียงรูปม้าและฉัตร ไม่มีรูปพระพุทธเจ้าเช่นกัน


มหาภิเนษกรมณ์ศิลปะหิมาลัยตะวันออก ที่วัดอัลฉิ(AlChi)ในลาดัก ราวพุทธศตวรรษที่18


มหาภิเนษกรมณ์ จิตรกรรมไทยอยุธยาตอนปลาย วัดคงคาราม ราชบุรี ภาพเล็กไปหน่อยครับแต่อยากให้เห็นว่าของไทยเป็นอย่างไร


ตอนตัดพระเมาลี ศิลปะทิเบต


ตอนเดียวกันในศิลปะไทย


มารวิชัย ศิลปะคันธาระ มารเป็นหน้าคน หน้าสัตว์ หน้ายักษ์พิสดาร ที่ขี่อูฐมาก็มี
ประติมากรรมสมบัติของ Freer Gallery of Art, Smithsonian Institution, Washington, D.C.


มารวิชัย ศิลปะจีนจากห้องสมุดถ้ำตุนฮวง ภาพมารล้วนเป็นสัตว์พิสดาร


ศิลปะทิเบตจาก Dharmapala Thanhgka Centre ประเทศเนปาล สังเกตอาวุธของเหล่ามาร เมื่อมาใกล้พระพุทธเจ้าแล้ว ปลายอาวุธล้วนกลายเป็นดอกไม้ แสดงภาวะที่กิเลสไม่อาจเข้าใกล้พระพุทธองค์ได้อีกต่อไป


มารวิชัย จิตรกรรมฝาผนังภายในพระที่นั่งพุทไธสวรรค์ กรุงเทพฯ ฝีมือช่างสมัยรัชกาลที่ 1 แสดงภาวะการมีชัยเหนือเหล่ามาร(กิเลส)ของพระพุทธเจ้าเช่นกัน แต่จัดให้องค์ประกอบฝ่ายพญามารที่บุกเข้ามาอยู่ทางด้านซ้ายของพระองค์ ส่วนทางขวาของพระองค์ พญามารถือดอกไม้ด้วยแพ้ต่อพระองค์เสียแล้ว


ภาพตอนตรัสรู้ ใช้รูปต้นโพธิ์แทนความหมายของการตรัสรู้ที่เมืองคยา หินสลักที่สาญจีสถูป
*ต้นไม้ชนิดใดก็ตามที่พระพุทธเจ้าพระองค์ใดได้ตรัสรู้ ณ ต้นไม้นั้น ล้วนเรียกว่าต้นโพธิ์ทั้งสิ้น
เช่นต้นอัสสัตถะ อันเป็นไม้ตระกูลมะเดื่อชนิดหนึ่งนี้ เมื่อพระศากยมุนีได้ตรัสรู้ใต้ต้น ก็เรียกใหม่ว่าต้นโพธิ์
หรือต้น นิโครธ สุมังคล อันเป็นไม้ตรัสรู้ของพระกัสสปพุทธเจ้า หรือต้นปิปผลิ อันเป็นไม้ตรัสรู้ของพระทีปังกรพุทธเจ้า ก็ล้วนเรียกไม้เหล่านี้ว่า ต้นโพธิ์ทั้งสิ้น


ธรรมจักร สัญลักษณ์ของการปฐมเทศนา


ธรรมจักร ศิลปะทวารวดี พบที่นครปฐม


ธรรมจักรสัญลักษณ์แห่งการปฐมเทศนาและกวางหมอบสัญลักษณ์ของป่าอิสิปตนมฤคทายวัน คือสถานที่แสดงปฐมเทศนา


รูปพระสถูป เป็นสัญลักษณ์ของการปรินิพพานของพระพุทธเจ้า


พระพุทธองค์ทรงปรินิพพาน ศิลปะญี่ปุ่น พุทธศตวรรษที่23


ตอนปรินิพพาน ศิลปะทิเบต พุทธศตวรรษที่23

*ภาพพุทธประวัติจากหินสลัก โรงมหรสพทางวิญญาณ ณ สวนโมกขพลาราม พร้อมคำบรรยาย

วันเสาร์ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2550

พระไภษัชยคุรุ

พระไภษัชยคุรุ
พระพุทธเจ้าแห่งการแพทย์ นับเป็นพระธยานิพุทธพระองค์หนึ่ง เพราะพระองค์มีพุทธเกษตร(ดินแดนของพระธยานิพุทธองค์นั้นๆ)นามว่าไวฑูรยนิรภาส คือแสงสว่างแห่งไพฑูรย์ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก เมื่อครั้งที่ยังไม่ได้ตรัสรู้ ยังเป็นโพธิสัตว์อยู่ ทรงตั้งปณิธาน12ข้อเพื่อช่วยเหลือสัตว์
พระวรกายสีน้ำเงิน ทรงอาภรณ์อย่างพระพุทธเจ้า พระหัตถ์ซ้ายทรงบาตรซึ่งบรรจุด้วยน้ำอมฤต พระหัตถ์ขวาทรงช่อโอสถ หรืออาจเป็นผลสมอ
ในเชิงธรรมาธิษฐาน พระองค์เปรียบดังหมอ(พระศากยมุนีพุทธ)ผู้ให้ยา(พระธรรม)แก่ผู้ป่วย(สรรพสัตว์ทั้งหลาย)
ในทิเบตเรียกพระองค์ว่า แมงลา, จีนเรียก เอี๊ยะซือฮุดโจ้ว, ญี่ปุ่นเรียก ยากูชิ เนียวไร
ธารณีของพระองค์คือ
นโม ภควเต ไภษชฺยคุรุ ไวฑูรฺยปรฺภาราชาย ตถาคตย อรฺหเต สมฺยกฺสมฺพุทฺธาย ตถฺยถา โอมฺ ไภษชฺเย ไภษชฺเย ไภษชฺย สมุทฺคเตสฺวาห

*ไภษัชยคุรุไวฑูรยประภาตถาคตสูตร ฉบับแปล สำนวน อ.โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์


พระไภษัชยคุรุ ศิลปะทิเบต


พระไภษัชคุรุศิลปะญี่ปุ่น ในพระหัตถ์ซ้ายทรงหม้อยา สัญลักษณ์ของพระองค์


พระไภษัชยคุรุ ในแบบที่คนไทยรู้จักกันดีว่า พระกริ่ง สังเกตในพระหัตถ์ทรงหม้อยา ไม่ใช่วัชระอย่างที่หลายคนเข้าใจ

วันศุกร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2550

พระธยานิพุทธ หรือ พระชินะพุทธทั้งห้า

สัมโภคกาย
คือกายอันรุ่งเรืองด้วยรัศมีของพระพุทธเจ้า เป็นพระกายที่ทรงปรากฏเพื่อตรัสสอนพระโพธิสัตว์ต่างๆ ดังนั้นจึงทรงปรากฏเป็นจำนวนมากมายจนไม่อาจนับได้ แต่มีห้าพระองค์ที่เป็นหลักสำคัญทีสุด ซึ่งกำหนดไว้ด้วยสัญลักษณ์ สี และธาตุต่างๆ ดังนี้

พระไวโรจนะ
พระวรกายสีขาว สัญลักษณ์ของธาตุน้ำ(อันใสสะอาด)ในมณฑลของพระชินะพุทธทั้งห้า พระองค์จะประทับอยู่ใจกลาง
ทรงมุทราธรรมจักร จึงอยู่ในวงศ์* แห่งตถาคต(คือผู้หมุนธรรมจักร)
(*สายการแบ่งพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ต่างๆเพื่อให้จดจำง่ายขึ้นว่าพระโพธิสัตว์องค์นั้นๆเป็นนิรมาณ หรือเป็นกายเนรมิตจากพระพุทธเจ้าพระองค์ใด)
ในพุทธศาสนามนตรยานของญี่ปุ่น(เทนได และชินกอน) พระองค์ได้รับการบูชาเป็นหลักมากยิ่งกว่าพระอาทิพุทธและพระพุทธเจ้าพระองค์อื่น
ด้วยพระนามของพระองค์มีนัยแฝงถึงแสงอันรุ่งโรจน์ เกี่ยวเนื่องกับพระอาทิตย์อันเป็นต้นกำเนิดแห่งทุกสรรพสิ่ง


พระไวโรจนะพุทธ


ไดนิชิ เนียวไร หรือ พระไวโรจนะพุทธ ศิลปะญี่ปุ่นพุทธศตวรรษที่19


ธรรมจักร มุทราแบบ อินเดีย, ทิเบต


ธรรมจักรมุทราแบบ ญี่ปุ่น

พระอมิตาภะ
พระวรกายสีแดง สัญลักษณ์ของธาตุไฟ ในมณฑลของพระชินะพุทธทั้งห้า พระองค์จะประทับอยู่ทิศตะวันตก
ทรงมุทราสมาธิ อยู่ในวงศ์แห่งปัทมะ(คือดอกบัว)
ในพระธยานิพุทธทั้งห้าพระองค์นั้น พระอมิตาภะเป็นที่รู้จักมากที่สุด พระสูตรจำนวนมากที่ถือกันว่าได้รับการถ่ายทอดมาจากพระองค์ ทั้งยังทรงเป็นพระธยานิพุทธแห่งพระพุทธเจ้าศากยมุนี(พระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบัน) จึงทำให้พระองค์ได้รับการบูชาอย่างแพร่หลายโดยเฉพาะในทิเบต จีน นิกายที่บูชาพระองค์โดยเฉพาะได้แก่นิกายสุขาวดี (จิ่งทู่จง ในจีน, โจโดชู ในญี่ปุ่น)พระสูตรที่สำคัญซึ่งบรรยายถึงพุทธเกษตรของพระองค์ไว้อย่างงดงามได้แก่ สุขาวดีวยุหสูตร


พระอมิตาภะในพุทธเกษตรสุขาวดี ศิลปะแบบทิเบต
ซ้ายของภาพคือพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ ขวาคือพระวัชรปาณิโพธิสัตว์ หากเป็นคติจีนและญี่ปุ่น พระวัชรปาณิจะถูกแทนที่ด้วยพระมหาสถามปราปตโพธิสัตว์


พระรัตนสัมภวะ
พระวรกายสีเหลือง สัญลักษณ์ของธาตุดิน ในมณฑลของพระชินะพุทธทั้งห้า พระองค์จะประทับอยู่ทิศใต้
ทรงมุทราวร(ประทานพร) อยู่ในวงศ์แห่งรัตนะ
รัตน มีนัยความหมายถึง พระรัตนตรัย นอกจากนี้ยังมีนัยถึงดวงจิตที่ตรัสรู้อีกด้วย


พระอักโษภยะ
พระวรกายสีน้ำเงิน สัญลักษณ์ของธาตุอากาศ ในมณฑลของพระชินะพุทธทั้งห้า พระองค์จะประทับอยู่ทิศตะวันออก
ทรงมุทราภูมิสปารศ(มารวิชัย) อยู่ในวงศ์แห่งวัชร ด้วยพระนามมีความหมายถึงความหนักแน่น ไม่หวั่นไหว อันเป็นคุณลักษณะของวัชระ พุทธเกษตรของพระองค์อยู่ทางทิศตะวันออกชื่อว่า อภิรติ แต่รู้จักกันน้อยกว่าสุขาวดีของพระอมิตาภะ


พระอโมฆสิทธิ
พระวรกายสีเขียว สัญลักษณ์ของธาตุลม ในมณฑลของพระชินะพุทธทั้งห้า พระองค์จะประทับอยู่ทิศเหนือ
ทรงมุทราอภัย อยู่ในวงศ์แห่งกรรม สัญลักษณ์แห่งวงศ์นี้คือวัชระคู่(วิศววัชระ)



พระธยานิพุทธ ในทิศต่างๆ ในภาพนี้พระอโมฆสิทธิ(เขียว)คือทิศเหนือ