วันพุธที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร

ในบรรดาพระโพธิสัตว์ตามความเชื่อฝ่ายมหายาน พระอวโลกิเตศวร เป็นพระโพธิสัตว์ที่ได้รับการบูชาแพร่หลายมากที่สุด และเป็นที่คุ้นเคยแม้กระทั่งต่อชาวพุทธฝ่ายเถรวาทแบบบ้านเราเองมาช้านาน
สำเนียงจีนเรียกพระองค์ว่า กวนอิม,ญี่ปุ่นเรียก กันนอน,ทิเบต เรียก เชนเรซิก

พระองค์เป็นพระโพธิสัตว์แห่งความเมตตา(ในเชิงธรรมาธิษฐานคือพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า) ทรงตั้งปณิธานที่จะไม่เสด็จเข้านิพพานจนกว่าจะช่วยสรรพสัตว์ทั้งหลายให้พ้นจากความทุกข์ พระนามของพระองค์ปรากฏในพระสูตรมหายานสำคัญๆ เช่นปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตร,สัทธรรมปุณฑริกสูตร เป็นต้น

แม้ว่าในภาวะของโพธิสัตว์ มักถือกันว่า ไม่เป็นทั้งเพศบุรุษหรือสตรี แต่รูปศิลปะแรกๆของพระองค์ในอินเดีย มักแสดงความเป็นเพศชาย ในขณะที่เมื่อการบูชาพระองค์แพร่หลายเข้าไปในประเทศจีน แรกนั้นนายช่างก็แสดงรูปของพระองค์เป็นบุรุษอยู่ ต่อมาในสมัยหลังเมื่อตำนานพื้นเมืองของจีนเอง เรื่องพระธิดาเมี่ยวซันแห่งอาณาจักรซินหลิง ซึ่งถือว่าเป็นชาติก่อนที่พระองค์จะได้เป็นพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ รูปของพระองค์ได้แสดงลักษณะของสตรีเพศอย่างชัดเจน กลายเป็น เจ้าแม่กวนอิม ที่รู้จักกันดี


พระอวโลกิเตศวร ปางปัทมปาณิ(ผู้ถือดอกบัว) จิตรกรรมที่ผนังถ้ำอชันตา หมายเลข1 ศิลปะคุปตะตอนปลาย หรือหลังคุปตะ(พุทธศตวรรษที่12)
ถือกันว่าเป็นงานจิตรกรรมที่งดงามที่สุดภาพหนึ่งของประวัติศาสตร์ศิลปะอินเดีย


พระอวโลกิเตศวร ศิลปะอินเดีย สมัยปาละ(พุทธศตวรรษที่16)สังเกตบนมงกุฏทรงรูปพระอมิตาภะไว้เสมอ เป็นสัญลักษณ์ส่วนตัวของพระอวโลกิเตศวรแต่เพียงผู้เดียว(Mr. and Mrs. John D. Rockefeller 3rd Collection of Asian Art)


ปัทมปาณิ ศิลปะเนปาล ราวพุทธศตวรรษที16 แสดงการยืนแบบตริภังค์(เอียงสามส่วน)ที่เป็นท่ายืนคลาสสิคของศิลปะอินเดีย
(Metropolitan Museum of Art)


พระอวโลกิเตศวร ศิลปะเขมร สมัยพระนคร ราวพุทธศตวรรษที่15-16 เล็กๆบนพระเศียรคือรูปพระอมิตาภะ
(Metropolitan Museum of Art)


พระอวโลกิเตศวร ศิลปะชวาภาคกลาง ราวพุทธศตวรรษที่13-14(Musée national des Arts asiatiques-Guimet)


พระปัทมปาณิ ศิลปะศรีวิชัย ราวพุทธศตวรรษที่13 พบที่ไชยา องค์คลาสสิคและงดงามที่สุดของไทย


พระอวโลกิเตศวร ในปางที่พบบ่อยในศิลปะทิเบต ทรงแก้วมณีสัญลักษณ์ของโพธิจิตในสองพระหัตถ์หน้า อีกสองพระหัตถ์ทรงมาลา(ประคำ)สัญลักษณ์แห่งการปฏิบัติ และดอกบัวสัญลักษณ์แห่งความบริสุทธิ์ พระอังสะซ้ายมีหนังกวางพาดลงมา สัญลักษณ์ของความอ่อนโยนและเมตตาต่อสรรพสัตว์
"ษฑักษรีโลเกศวร" หมายถึงพระอวโลกิเตศวรแห่งหกอักษร(ในที่นี้คือพยางค์)อันเป็น มนตร์ประจำพระองค์ที่ชาวทิเบตท่องได้ทุกผู้คน "โอม มณี เปมา ฮูง" หรือสันสกฤตว่า "โอม มณี ปัทเม หูม"


พระอวโลกิเตศวรหนึ่งพันแขน สิบเอ็ดเศียร (สหัสรภุช เอกทศมุข)ศิลปะทิเบต พระหัตถ์และเศียรมากมาย หมายถึงพระปณิธานที่จะช่วยสรรพสัตว์ทุกชีวิตให้พ้นจากความทุกข์


พระกวนอิมพันกร ในศิลปะจีน


พระกวนอิมพันกร ในไต้หวัน พระกรมากมายเหลือคณานับ


พระกวนอิม สมัยซ่ง ราวพุทธศตวรรษที่16-17 ทำด้วยไม้ลงสีสวยงามเป็นที่สุด ปัจจุบันอยู่ใน Nelson-Atkins Museum,Kansas City


เจ้าแม่กวนอิมทรงมังกร ศิลปะจีนร่วมสมัย


เซนจู กันนอน(พระอวโลกิเตศวรพันหัตถ์) ศิลปะญี่ปุ่นสมัยเฮอัน พุทธศตวรรษที่17 (Tokyo National Museum)


"โอม มณี เปมา ฮูง" มนตราที่พบได้ทั่วไปในทิเบต ทั้งสลักไว้ตามหิน เขียนไว้ตามทาง จารึกบนกระบอกมนตร์ และอีกมากมาย


กระบอกมนตร์แบบดิจิตอล จากเว็บ http://www.dharma-haven.org

วันพฤหัสบดีที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

พระไมเตรยพุทธเจ้า (เมตไตรยพุทธ)

พระพุทธเจ้าพระองค์ต่อไปที่จะมาตรัสรู้ในภัทรกัลป์นี้ ในพระไตรปิฎกปรากกฏที่พระพุทธเจ้าตรัสเรื่องนี้ไว้สั้นๆใน จักกวัตติสูตร และ พุทธวงศ์ พุทธปกิรณกกัณฑ์ ส่วนในคัมภีร์ชั้นหลังมีกล่าวไว้มากแห่ง เช่นในอนาคตวงศ์ แต่งโดยพระกัสสปะเถระชาวอินเดียใต้ราวพุทธศตวรรษที่18 หรือในอมตรสธาราเป็นต้น
ในงานพุทธศิลปะทิเบต มีทั้งที่แสดงภาพพระองค์ในฐานะของพระพุทธเจ้าและฐานะพระโพธิสัตว์
มีสัญลักษณ์คือ
-พระสถูปบนศีรษะหรือบนมงกุฏสัญลักษณ์แทนการเคารพแด่พระศากยมุนีพุทธเจ้า หรือบ้างก็ว่าเป็นสัญลักษณ์ของพระสถูปที่เก็บบริขารไว้ภายในและจะทรงได้รับเมื่อทรงออกผนวชในชาติที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า
-ธรรมจักร์ แสดงถึงการประกาศพระธรรม
-หม้อน้ำ หรือแจกัน ซึ่งบรรจุน้ำอมฤต สัญลักษณ์ของการรักษาไว้ซึ่งพระธรรมอันบริสุทธิ์


พระไมเตรยโพธิสัตว์ สวมมงกุฏพระพุทธเจ้าห้าพระองค์ สูงประมาณ15เมตร พระดำริสร้างโดยองค์ดาไลลามะที่14 เมื่อปี2523
เมื่อครั้งเสด็จที่วัด ถิกเซ


พระไมเตรยโพธิสัตว์ ศิลปะทิเบต


พระไมเตรย ศิลปะมองโกล ยังคงรูปพระสถูปและหม้อน้ำเป็นสัญลักษณ์


พระไมเตรยในรูปของพุทธเจ้า ศิลปะทิเบต ราวพุทธศตวรรษที่23(The Norton Simon Museum)


พระไมเตรยโพธิสัตว์ ศิลปะคันธาระราวพุทธศตวรรษที่7 สังเกตหม้อน้ำที่ปรากฏเสมอ


ในศิลปะมถุรา ซึ่งมีความเป็นอินเดียแท้มากกว่าคันธาระก็ใช้สัญลักษณ์เดียวกัน คือมีหม้อน้ำเล็กๆที่พระชานุ(เข่า)


มิโรกุ โบสัตซึ หรือพระไมเตรยโพธิสัตว์ในชื่อญี่ปุ่น ในท่านั่งพิจารณาถึงสรรพสัตว์ เป็นท่าคลาสสิคของพระไมเตรยที่นิยมในญี่ปุ่น
(จากวัดชูคูจิ ราวพุทธศตวรรษที่12)