วันพุธที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2550

พระทีปังกรพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าพระองค์ที่สี่ในสารมัณฑกัลป์ คือนับย้อนจากพระศากยมุนีพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบัน ย้อนขึ้นไป25พระองค์ และเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์แรกที่พยากรณ์พระศากยมุนีพุทธเจ้า เมื่อครั้งยังเสวยชาติเป็นโพธิสัตว์ชื่อ สุเมธดาบส ว่าจะได้เป็นพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคต
"....เราสยายผมแล้วเอาผ้าคากรองและหนังสัตว์ลาดลงบนเปือกตม นอนคว่ำลง ณ ที่นั้น ด้วยคิดว่า พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระสาวก จงทรงเหยียบเราเสด็จไปเถิด อย่าทรงเหยียบเปือกตมนั้นเลย ข้อนั้นจักเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่เรา เมื่อเรานอนอยู่ที่พื้นดิน ได้มีความคิดอย่างนี้ว่า เรา(มิได้)ปรารถนาว่า วันนี้ พระพุทธเจ้าพึงทรงเผากิเลสของเราประโยชน์อะไรแก่เราด้วยเพศที่ใครๆ ไม่รู้จัก และด้วยการทำให้แจ้งซึ่งธรรม ณ ที่นี้ เราพึงบรรลุสัพพัญญุตญาณหลุดพ้นแล้วพึงเปลื้องหมู่สัตว์พร้อมทั้งเทวดาให้หลุดพ้นเถิด ประโยชน์อะไรด้วยเราผู้เป็นคนมีกำลังจะข้ามไปคนเดียวเล่า เราบรรลุสัพพัญญุตญาณได้ และจะช่วยหมู่ชนให้ข้ามได้เป็นอันมาก...."
"....พระพุทธทีปังกรผู้ทรงรู้แจ้งโลก ผู้สมควรรับเครื่องบูชาประทับยืนอยู่เหนือศีรษะเรา ตรัสพระดำรัสว่า ท่านทั้งหลายจงดูชฎิลดาบสผู้มีตบะอันรุ่งเรืองนี้ เขาจักได้เป็นพระพุทธเจ้าในโลกในกัปอันประมาณมิได้แต่กัปนี้...."
(พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ทีปังกรพุทธวงศ์)


สุเมธดาบส สยายผมลงบนโคลนให้พระทีปังกรพุทธเจ้าเสด็จเหยียบข้ามไป ประติมากรรมศิลปะคันธาระ ปัจจุบันอยูที่พิพิธภัณฑ์กรุงคาบูล อัฟกานิสถาน


พระทีปังกรพุทธเจ้าศิลปะเนปาล พุทธศตวรรษที่22-23 พิพิพธภัณฑ์ปาตาน,เนปาล
ในเนปาล บางครั้งถือว่าพระทีปังกรพุทธเจ้าเทียบเท่ากับอาทิพุทธพระองค์หนึ่ง และยังเป็นพระผู้คุ้มครองในอาชีพค้าขายด้วย ดังนั้นจึงมีการบูชาพระองค์กันอย่างแพร่หลาย

วันจันทร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2550

นิรมาณกาย

นิรมาณกายคือกายที่สามและท้ายสุดแห่งการเนรมิตพระองค์ของพระพุทธเจ้าในระบบตรีกาย กายนี้คือกายแห่งมนุษย์หรือที่เรารู้จักกันดีคือพระศากยมุนีพุทธเจ้า(สักกยมุนึพุทธเจ้า)หรือพระอดีตพุทธเจ้าพระองค์ก่อนก็ตาม* เป็นพระวรกายที่ใช้โปรดสัตว์โลกที่ยังข้องอยู่ด้วยกิเลส
*(แม้จะมีจำนวนมากจนไม่อาจนับได้ แต่ในพระไตรปิฎกระบุไว้27พระองค์ ซึ่งมีเพียง24พระองค์เท่านั้น ที่พระศากยมุนีพุทธเจ้าเมื่อครั้งยังเป็นโพธิสัตว์อยู่ในชาติต่างๆได้เคยพบและได้รับพยากรณ์ว่าจะได้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต)
พุทธประวัติที่เราทราบกันทั่วไปมักจะเป็นพุทธประวัติจากคัมภีร์ ปฐมสมโพธิ(ฝ่ายเถรวาท) หรือ ลลิตวิตระ,พุทธจริต(ฝ่ายมหายาน)
ซึ่งพุทธประวัติในคัมภีร์เหล่านี้มักแทรกเรื่องปาฏิหารย์เข้าไปมากกว่าที่ปรากฏอยู่จริงในพระไตรปฎก ทั้งนี้เพื่อยังให้เกิดศรัทธาแก่ศาสนิกชน ทั้งนี้ในส่วนของพระไตรปิฎกนั้นพระพุทธองค์ทรงตรัสเล่าถึงพระองค์เองในพระสูตรต่างๆ โดยมีใจความคือพระธรรมที่พระองค์ทรงสอนนั่นเอง
*พุทธประวัติจากพระโอษฐ์ ฉบับเรียบเรียงโดยท่านพุทธทาสภิกขุ
*มหากาพย์พุทธจริต(ฉบับสมบูรณ์,แปลจากต้นฉบับภาษาสันสกฤต)โดย อ.สำเนียง เลื่อมใส จัดพิมพ์โดยศูนย์สันสกฤตศึกษา มหาวิทยาลัยศิลปากร,กรุงเทพฯ 2547
*คัมภีร์ ลลิตวิสตระ มีฉบับแปลโดย อ.แสง มนวิทูร โดยกรมศิลปากรจัดพิมพ์ เก่ามากแล้วไม่มีจำหน่ายและไม่มีโครงการจะพิมพ์ใหม่(หนังสือดีที่ไม่มีคนซื้อ กรมศิลปฯก็ไม่ค่อยอยากจะลงทุนครับ) ดังนั้นหาอ่านได้ตามห้องสมุดมหาวิทยาลัย หรือโชคดีพอผมเคยพบว่าหลุดมาอยู่แผงแถวท่าช้าง!)
พุทธประวัติที่สำคัญและมักปรากฏเป็นหลักคือ ตอนประสูติ,มหาภิเนษกรมณ์(ออกบวช),มารผจญ,ตรัสรู้,ปฐมเทศนาและปรินิพพาน


พุทธประวัติตอนประสูต ศิลปะอมรวดี ราวพุทธศตวรรษที่7 ขวาบนคือพระพุทธมารดาทรงพระสุบิน ขวาล่างคือพระพุทธองค์ประสูติ สังเกตว่าไม่มีรูปพระพุทธเจ้า มีเพียงดอกบัวเป็นฐานอันแสดงไว้ ด้วยเหตุที่นายช่างศิลป์ในสมัยแรกๆนั้นไม่นิยมสร้างรูปพระพุทธเจ้าจริงๆ ใช้เพียงสัญลักษณ์แทน


ในศิลปะคันธาระ นายช่างสร้างรูปพระพุทธองค์ขึ้นแล้ว ทั้งนี้ คันธาระเป็นศิลปะกรีกที่แผ่มาในอินเดีย ช่างกรีกนิยมสร้างรูปเคารพมาแต่ก่อน จึงมีคติที่สามรถสร้างรูปพระพุทธเจ้าได้


พระพุทธรูปปางประสูติแบบนี้เป็นที่นิยมในญี่ปุ่น จีน พระอาการที่ทรงชี้ฟ้าและดินนั้นแสดงตามพระไตรปิฎกที่ทรงตรัสว่า
"ดูก่อนอานนท์! โพธิสัตว์ผู้คลอดแล้วเช่นนี้ เหยียบพื้นดินด้วยฝ่าเท้าอันสม่ำเสมอ มี พระพักตร์ทางทิศเหนือ ก้าวไป ๗ ก้าว, มีฉัตรสีขาวกั้นอยู่ ณ เบื้องบน, ย่อมเหลียวดูทิศทั้งหลาย และ กล่าว อาสภิวาจา ว่า"เราเป็นผู้เลิศแห่งโลก, เราเป็นผู้เจริญที่สุดแห่งโลก, เราเป็นผู้ประเสริฐสุด แห่งโลก. ชาตินี้ เป็นชาติสุดท้าย. บัดนี้ ภพใหม่ย่อมไม่มี" ดังนี้"


ภาพตอนประสูติศิลปะทิเบต


ตอนมหาภิเนษกรมศิลปะอินเดียสมัยราชวงศ์ศาตวาหนะ ราวพุทธศตวรรษที่3 มีเพียงรูปม้าและฉัตร ไม่มีรูปพระพุทธเจ้าเช่นกัน


มหาภิเนษกรมณ์ศิลปะหิมาลัยตะวันออก ที่วัดอัลฉิ(AlChi)ในลาดัก ราวพุทธศตวรรษที่18


มหาภิเนษกรมณ์ จิตรกรรมไทยอยุธยาตอนปลาย วัดคงคาราม ราชบุรี ภาพเล็กไปหน่อยครับแต่อยากให้เห็นว่าของไทยเป็นอย่างไร


ตอนตัดพระเมาลี ศิลปะทิเบต


ตอนเดียวกันในศิลปะไทย


มารวิชัย ศิลปะคันธาระ มารเป็นหน้าคน หน้าสัตว์ หน้ายักษ์พิสดาร ที่ขี่อูฐมาก็มี
ประติมากรรมสมบัติของ Freer Gallery of Art, Smithsonian Institution, Washington, D.C.


มารวิชัย ศิลปะจีนจากห้องสมุดถ้ำตุนฮวง ภาพมารล้วนเป็นสัตว์พิสดาร


ศิลปะทิเบตจาก Dharmapala Thanhgka Centre ประเทศเนปาล สังเกตอาวุธของเหล่ามาร เมื่อมาใกล้พระพุทธเจ้าแล้ว ปลายอาวุธล้วนกลายเป็นดอกไม้ แสดงภาวะที่กิเลสไม่อาจเข้าใกล้พระพุทธองค์ได้อีกต่อไป


มารวิชัย จิตรกรรมฝาผนังภายในพระที่นั่งพุทไธสวรรค์ กรุงเทพฯ ฝีมือช่างสมัยรัชกาลที่ 1 แสดงภาวะการมีชัยเหนือเหล่ามาร(กิเลส)ของพระพุทธเจ้าเช่นกัน แต่จัดให้องค์ประกอบฝ่ายพญามารที่บุกเข้ามาอยู่ทางด้านซ้ายของพระองค์ ส่วนทางขวาของพระองค์ พญามารถือดอกไม้ด้วยแพ้ต่อพระองค์เสียแล้ว


ภาพตอนตรัสรู้ ใช้รูปต้นโพธิ์แทนความหมายของการตรัสรู้ที่เมืองคยา หินสลักที่สาญจีสถูป
*ต้นไม้ชนิดใดก็ตามที่พระพุทธเจ้าพระองค์ใดได้ตรัสรู้ ณ ต้นไม้นั้น ล้วนเรียกว่าต้นโพธิ์ทั้งสิ้น
เช่นต้นอัสสัตถะ อันเป็นไม้ตระกูลมะเดื่อชนิดหนึ่งนี้ เมื่อพระศากยมุนีได้ตรัสรู้ใต้ต้น ก็เรียกใหม่ว่าต้นโพธิ์
หรือต้น นิโครธ สุมังคล อันเป็นไม้ตรัสรู้ของพระกัสสปพุทธเจ้า หรือต้นปิปผลิ อันเป็นไม้ตรัสรู้ของพระทีปังกรพุทธเจ้า ก็ล้วนเรียกไม้เหล่านี้ว่า ต้นโพธิ์ทั้งสิ้น


ธรรมจักร สัญลักษณ์ของการปฐมเทศนา


ธรรมจักร ศิลปะทวารวดี พบที่นครปฐม


ธรรมจักรสัญลักษณ์แห่งการปฐมเทศนาและกวางหมอบสัญลักษณ์ของป่าอิสิปตนมฤคทายวัน คือสถานที่แสดงปฐมเทศนา


รูปพระสถูป เป็นสัญลักษณ์ของการปรินิพพานของพระพุทธเจ้า


พระพุทธองค์ทรงปรินิพพาน ศิลปะญี่ปุ่น พุทธศตวรรษที่23


ตอนปรินิพพาน ศิลปะทิเบต พุทธศตวรรษที่23

*ภาพพุทธประวัติจากหินสลัก โรงมหรสพทางวิญญาณ ณ สวนโมกขพลาราม พร้อมคำบรรยาย

วันเสาร์ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2550

พระไภษัชยคุรุ

พระไภษัชยคุรุ
พระพุทธเจ้าแห่งการแพทย์ นับเป็นพระธยานิพุทธพระองค์หนึ่ง เพราะพระองค์มีพุทธเกษตร(ดินแดนของพระธยานิพุทธองค์นั้นๆ)นามว่าไวฑูรยนิรภาส คือแสงสว่างแห่งไพฑูรย์ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก เมื่อครั้งที่ยังไม่ได้ตรัสรู้ ยังเป็นโพธิสัตว์อยู่ ทรงตั้งปณิธาน12ข้อเพื่อช่วยเหลือสัตว์
พระวรกายสีน้ำเงิน ทรงอาภรณ์อย่างพระพุทธเจ้า พระหัตถ์ซ้ายทรงบาตรซึ่งบรรจุด้วยน้ำอมฤต พระหัตถ์ขวาทรงช่อโอสถ หรืออาจเป็นผลสมอ
ในเชิงธรรมาธิษฐาน พระองค์เปรียบดังหมอ(พระศากยมุนีพุทธ)ผู้ให้ยา(พระธรรม)แก่ผู้ป่วย(สรรพสัตว์ทั้งหลาย)
ในทิเบตเรียกพระองค์ว่า แมงลา, จีนเรียก เอี๊ยะซือฮุดโจ้ว, ญี่ปุ่นเรียก ยากูชิ เนียวไร
ธารณีของพระองค์คือ
นโม ภควเต ไภษชฺยคุรุ ไวฑูรฺยปรฺภาราชาย ตถาคตย อรฺหเต สมฺยกฺสมฺพุทฺธาย ตถฺยถา โอมฺ ไภษชฺเย ไภษชฺเย ไภษชฺย สมุทฺคเตสฺวาห

*ไภษัชยคุรุไวฑูรยประภาตถาคตสูตร ฉบับแปล สำนวน อ.โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์


พระไภษัชยคุรุ ศิลปะทิเบต


พระไภษัชคุรุศิลปะญี่ปุ่น ในพระหัตถ์ซ้ายทรงหม้อยา สัญลักษณ์ของพระองค์


พระไภษัชยคุรุ ในแบบที่คนไทยรู้จักกันดีว่า พระกริ่ง สังเกตในพระหัตถ์ทรงหม้อยา ไม่ใช่วัชระอย่างที่หลายคนเข้าใจ

วันศุกร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2550

พระธยานิพุทธ หรือ พระชินะพุทธทั้งห้า

สัมโภคกาย
คือกายอันรุ่งเรืองด้วยรัศมีของพระพุทธเจ้า เป็นพระกายที่ทรงปรากฏเพื่อตรัสสอนพระโพธิสัตว์ต่างๆ ดังนั้นจึงทรงปรากฏเป็นจำนวนมากมายจนไม่อาจนับได้ แต่มีห้าพระองค์ที่เป็นหลักสำคัญทีสุด ซึ่งกำหนดไว้ด้วยสัญลักษณ์ สี และธาตุต่างๆ ดังนี้

พระไวโรจนะ
พระวรกายสีขาว สัญลักษณ์ของธาตุน้ำ(อันใสสะอาด)ในมณฑลของพระชินะพุทธทั้งห้า พระองค์จะประทับอยู่ใจกลาง
ทรงมุทราธรรมจักร จึงอยู่ในวงศ์* แห่งตถาคต(คือผู้หมุนธรรมจักร)
(*สายการแบ่งพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ต่างๆเพื่อให้จดจำง่ายขึ้นว่าพระโพธิสัตว์องค์นั้นๆเป็นนิรมาณ หรือเป็นกายเนรมิตจากพระพุทธเจ้าพระองค์ใด)
ในพุทธศาสนามนตรยานของญี่ปุ่น(เทนได และชินกอน) พระองค์ได้รับการบูชาเป็นหลักมากยิ่งกว่าพระอาทิพุทธและพระพุทธเจ้าพระองค์อื่น
ด้วยพระนามของพระองค์มีนัยแฝงถึงแสงอันรุ่งโรจน์ เกี่ยวเนื่องกับพระอาทิตย์อันเป็นต้นกำเนิดแห่งทุกสรรพสิ่ง


พระไวโรจนะพุทธ


ไดนิชิ เนียวไร หรือ พระไวโรจนะพุทธ ศิลปะญี่ปุ่นพุทธศตวรรษที่19


ธรรมจักร มุทราแบบ อินเดีย, ทิเบต


ธรรมจักรมุทราแบบ ญี่ปุ่น

พระอมิตาภะ
พระวรกายสีแดง สัญลักษณ์ของธาตุไฟ ในมณฑลของพระชินะพุทธทั้งห้า พระองค์จะประทับอยู่ทิศตะวันตก
ทรงมุทราสมาธิ อยู่ในวงศ์แห่งปัทมะ(คือดอกบัว)
ในพระธยานิพุทธทั้งห้าพระองค์นั้น พระอมิตาภะเป็นที่รู้จักมากที่สุด พระสูตรจำนวนมากที่ถือกันว่าได้รับการถ่ายทอดมาจากพระองค์ ทั้งยังทรงเป็นพระธยานิพุทธแห่งพระพุทธเจ้าศากยมุนี(พระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบัน) จึงทำให้พระองค์ได้รับการบูชาอย่างแพร่หลายโดยเฉพาะในทิเบต จีน นิกายที่บูชาพระองค์โดยเฉพาะได้แก่นิกายสุขาวดี (จิ่งทู่จง ในจีน, โจโดชู ในญี่ปุ่น)พระสูตรที่สำคัญซึ่งบรรยายถึงพุทธเกษตรของพระองค์ไว้อย่างงดงามได้แก่ สุขาวดีวยุหสูตร


พระอมิตาภะในพุทธเกษตรสุขาวดี ศิลปะแบบทิเบต
ซ้ายของภาพคือพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ ขวาคือพระวัชรปาณิโพธิสัตว์ หากเป็นคติจีนและญี่ปุ่น พระวัชรปาณิจะถูกแทนที่ด้วยพระมหาสถามปราปตโพธิสัตว์


พระรัตนสัมภวะ
พระวรกายสีเหลือง สัญลักษณ์ของธาตุดิน ในมณฑลของพระชินะพุทธทั้งห้า พระองค์จะประทับอยู่ทิศใต้
ทรงมุทราวร(ประทานพร) อยู่ในวงศ์แห่งรัตนะ
รัตน มีนัยความหมายถึง พระรัตนตรัย นอกจากนี้ยังมีนัยถึงดวงจิตที่ตรัสรู้อีกด้วย


พระอักโษภยะ
พระวรกายสีน้ำเงิน สัญลักษณ์ของธาตุอากาศ ในมณฑลของพระชินะพุทธทั้งห้า พระองค์จะประทับอยู่ทิศตะวันออก
ทรงมุทราภูมิสปารศ(มารวิชัย) อยู่ในวงศ์แห่งวัชร ด้วยพระนามมีความหมายถึงความหนักแน่น ไม่หวั่นไหว อันเป็นคุณลักษณะของวัชระ พุทธเกษตรของพระองค์อยู่ทางทิศตะวันออกชื่อว่า อภิรติ แต่รู้จักกันน้อยกว่าสุขาวดีของพระอมิตาภะ


พระอโมฆสิทธิ
พระวรกายสีเขียว สัญลักษณ์ของธาตุลม ในมณฑลของพระชินะพุทธทั้งห้า พระองค์จะประทับอยู่ทิศเหนือ
ทรงมุทราอภัย อยู่ในวงศ์แห่งกรรม สัญลักษณ์แห่งวงศ์นี้คือวัชระคู่(วิศววัชระ)



พระธยานิพุทธ ในทิศต่างๆ ในภาพนี้พระอโมฆสิทธิ(เขียว)คือทิศเหนือ

อาทิพุทธ

แนวคิดของวัชรยานได้รับเรื่องอาทิพุทธ หรือ "ธรรมกาย"มาจากมหายานเดิม และปรากฏเป็นภาพเชิงบุคคลาธิษฐานชัดเจนขึ้นกว่าก่อน จนพัฒนารูปแบบเฉพาะตนไปในนิกายต่างๆ
ดังนี้เอง จึงเกิดเป็นความสับสน ระหว่างอาทิพุทธองค์ต่างๆที่อธิบายไม่ตรงกันบ้างตามแต่ละนิกาย ซึ่งได้สร้างความงุนงงสงสัยกับผู้สนใจอยู่ไม่น้อย
แต่อันที่จริงแล้ว อาทิพุทธ หรือ ธรรมกายนี้ เป็นการอธิบาย"ธรรม"ที่มีมาก่อนการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ธรรมคือกฏของธรรมชาติดำรงอยู่แล้วเกินคาดคะเนนับ เราจะสังเกตเห็นได้ว่า แม้จะมีพระพุทธเจ้าในระบบตรีกายอย่างมากมาย ทั้งนิรมาณกาย และสัมโภคกายที่ผู้ปฎิบัติจะสามารถนิมิตหรือสวดภาวนาถึงได้ แต่พระพุทธเจ้าที่เป็นธรรมกายนั้นกลับไม่มีการปฎิบัติถึงโดยตรง(แม้พระวัชรสัตว์จะนับเป็นพระอาทิพุทธพระองค์หนึ่ง แต่การบูชาและบทสวดของพระองค์นั้น พระวัชสัตว์อยู่ในฐานะของสัมโภคกายของพระสมันตภัทร หรือพระวัชรธรอีกทีหนึ่ง ไม่ใช่ธรรมกาย) นั่นเพราะเหตุว่า ธรรมกายนั้นเป็นสภาวะธรรมอันไม่อาจกำหนดที่ว่างและเวลาลงได้ เป็นสภาวะที่สูงสุดของพระพุทธเจ้า ดังที่ในนิกายนญิงมาอธิบายว่า พระธรรมกายนั้นสั่งสอนเฉพาะในสภาของผู้ที่ตรัสรู้แล้วทั้งหมด เกินกว่าที่ปุถุชนจะเข้าถึงได้ (ยกเว้นในกรณีของท่านติโลปา ที่ถือว่าได้รับการถ่ายทอดคำสอนมาจากพระวัชรธร อาทิพุทธ)

สมันตภัทร
เป็นพระอาทิพุทธ ในนิกายนญิงมา เดิมทีพระนามนี้เป็นชื่อของพระโพธิสัตว์ในมหายาน คือพระสมันตภัทรโพธิสัตว์ หมายถึง ความดีงามอันแผ่ไปทั่วจักรวาล(จีนเรียก ผู่เซี่ยน, โผ่วเฮี้ยง ญี่ปุ่นเรียก ฟูเกน)เราไม่อาจยืนยันได้ว่าเมื่อพุทธศาสนาวัชรยานรับเอามาและพัฒนาในรูปแบบของตนเองนั้น พระองค์จึงได้กลายเป็นพระอาทิพุทธไปในที่สุด หรือเพียงแต่เป็นการพ้องกันของชื่อย่างน่าประหลาด

ฟูเกนโบสัตซึ

นิกายนญิงมาปะ มีพระอาทิพุทธ คือพระสมันตภัทร แสดงรูปเป็นรูปพระพุทธเจ้าไม่ทรงอาภรณ์ใดๆ เปลือยเปล่าในปางสมาธิ และมีพระวรรณะสีน้ำเงินเข้ม อันเป็นสัญลักษณ์แห่งความว่างอันไม่มีขอบเขต ทั้งยังทรงเป็นสัญลักษณ์แห่งความกรุณา หรืออุบาย ในปางที่มีศักติด้วยนั้น ศักติของพระองค์คือ สมันตภัทริ มีวรรณะสีขาว เป็นสัญลักษณ์แห่งปัญญา


วัชรธร
เป็นพระอาทิพุทธในนิกายกาจูและสากยะ พระวรกายสีน้ำเงิน ทรงอาภรณ์อย่างกษัตริย์ มุทราวัชรหูมกร คือพระหัตถ์ยกขึ้นไขว้กันระดับอก พระหัตถ์ขวาทรงวัชร พระหัตถ์ซ้ายทรงระฆัง(ฆัณฏะ)



มุทรา วัชรหูมกร

วัชรสัตว์
เป็นทั้งพระอาทิพุทธ พระธยานิพุทธ(สัมโภคกาย)และพระโพธิสัตว์(ปรากฏในพระสูตรตันตระคือ มหาไวโรจน ตันตระ และ สรฺวตถาคตตตฺตฺวสํคฺรห ตันตระ)พระวรกายสีขาว ทรงเครื่องอย่างกษัตริย์ พระหัตถ์ขวาทรงวัชระในระดับพระอุระ พระหัตถ์ซ้ายทรงฆัณฎะอยู่ในระดับพระโสณิ(สะโพก)หรือเหนือพระอูรุ(ต้นขา)เล็กน้อย



มนตราประจำพระองค์ อ่านสำเนียงสันสกฤตว่า โอมฺ วัชฺร สัตฺว หูมฺ
สำเนียงทิเบตว่า โอม เบนซา สะโต ฮูง


พระวัชรสัตว์ ศิลปะชวาตะวันออก ราวพุทธศตวรรษที่17


พระวัชรสัตว์ ศิลปะเขมร สมัยพระนคร ราวพุทธศตวรรษที่17

วันศุกร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2550

วัชระ

วัชระ แปลว่าสายฟ้า และมีความหมายอีกประการคือ เพชร เป็นนัยแห่งความหมายร่วมกันคือความแข็งแกร่ง และทรงพลัง ในการตัดทำลายสิ่งต่างๆ

ทำไมต้อง สายฟ้า
ผู้คนแต่โบราณในทุกวัฒนธรรม ล้วนเป็นกลุ่มชนที่ยำเกรงอำนาจของธรรมชาติทั้งสิ้น ฟ้า ฝน ลม เป็นสิ่งที่อยู่เหนือการควบคุมของผู้คนสมัยนั้น การนับถือเจ้าแม่ และเจ้าพ่อแห่งธรรมชาติ ปรากฏในวัฒนธรรมทั้งอียิปต์ กรีก จีนและอินเดีย
ผู้คนสังคมเกษตรกรรมต้องพึ่งฟ้าฝน บางทีฟ้าก็ให้น้ำท่าสมบูรณ์ด้วยความเมตตา บางทีฟ้าก็พิโรธให้เกิดความแล้ง หรืออุทกภัย
แสงแห่งสายฟ้านั้นมาเมื่อมีฝน ความสว่างและเสียงอันกึกก้องนั้น น่าเกรงขาม แต่ใครคือผู้บันดาลสิ่งนี้

ซุส,อินทร,วัชรปาณิ เทพเจ้าแห่งสายฟ้า
ชาติอารยันนั้นเป็นบรรพบุรุษแห่งชาวกรีก เปอร์เซีย และอินเดีย ในกรีกนั้น ซุสเป็นมหาเทพผู้ทรงสยฟ้า ส่วนในอินเดียนั้น พระอินทร์คือเทพสูงสุดแห่งยุคพระเวท(ก่อนที่พระศิวะ พระนารายณ์จะ มาแทนที่) และก็ทรงสายฟ้าเช่นกัน




โปรดสังเกตสายฟ้าในพระหัตถ์ของซุส คือการจับเอาสายฟ้ามากำรวมกัน

เมื่อช่างกรีกได้ตามทัพพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มาอินเดีย ช่างฝีมือชาวกรีกในอินเดียเหล่านี้เป็นผู้สลักพระพุทธรูปขึ้นเป็นชาติแรก แน่นอนว่าช่างเหล่านี้เคยเห็นรูปของซุสที่กรีกมาก่อนแล้ว "สายฟ้า"ในดินแดนอินเดียจึงรับเอารูปจินตนาการมาจากกรีกนั่นเอง

พระพุทธรูปสลักหินศิลปะสมัยคันธาระ(พุทธศตวรรษที่7) คือศิลปะกรีกในอินเดีย ขวาของภาพคือพระโพธิสัตว์วัชระปาณิ ซึ่งแผลงมาจากพระอินทร์เดิมโดยแท้ สังเกตวัชระในพระหตถ์ซ้ายเป็นวัชระแบบกิ่งเดียว


รูปพระอินทร์ที่โสมนาถปุระ ราว พุทธศตวรรษที่17 ทรงวัชระในพระหัตถ์ขวา

รูปวัชระนี้มีขนาดเล็กลงในศิลปะทิเบต กลายเป็นของในพิธีที่สามารถถือในมือได้สะดวก ไม่เหมือนกับดั้งเดิมในกรีก หรืออินเดียที่ดูเป็นอาวุธขนาดใหญ่

วัชระและระฆัง(ฆัณฏะ)ของทิเบต


วัชระในนิกายชิงงอน(มนตรยาน)ของญี่ปุ่น

ในพุทธศาสนาวัชรยาน วัชรยังคงแสดงความหมายของการตัดทำลายกิเลสอย่างทรงพลัง หมายถึงการตรัสรู้อย่างฉับพลัน สัญลักษณ์ของอุบายหรือการปฏิบัติอันเป็นสัญลักษณ์ของชาย คู่กับระฆังหรือฆัณฏะ สัญลักษณ์แห่งปัญญาและฝ่ายหญิง

วันพฤหัสบดีที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2550

สัญลักษณ์ในพุทธศิลป์ทิเบต

พระอาจารย์โดเงน ผู้ก่อตั้งโซโตเซ็น ในญี่ปุ่นกล่าวว่า "การศึกษาพุทธศาสนา คือศึกษาตนเอง, การศึกษาตนเอง คือละทิ้งตนเอง" นี่น่าจะเป็นคำกล่าวสั้นๆ เกี่ยวกับการปฏิบัติในพุทธศาสนาได้ชัดเจนทีเดียว พร้อมทั้งเรายังไม่ควรจะลืมพุทธวจนะที่ว่า "การปฏิบัติทั้งหลายเป็นสิ่งที่ท่านจะต้องกระทำเองเพื่อให้ความทุกข์สิ้นไป ตถาคตทั้งหลายเป็นแต่เพียงผู้ชี้ทางเท่านั้น"

แม้กระนั้นเองชาวพุทธบางส่วน ยังคงให้ความสนใจต่อพิธีกรรม มากกว่าเนื้อหาของศาสนา แม้ว่าตัวพิธีกรรม หรือประเพณีนั้น เป็นกุศโลบายอันดีที่จะทำให้ผู้คนสนใจในพระศาสนาได้ง่ายขึ้น แต่กระนั้นการที่จะได้รับ"ปัญญา"ที่สูงขึ้น ย่อมดีกว่าการรู้เพียงพิธีกรรมเท่านั้น

พุทธศาสนาวัชรยานในทิเบต ก็มากไปด้วยเรื่องราวของพิธีกรรมที่รุ่มรวยเช่นกัน ปฏิเสธไม่ได้ว่า หลายๆคนสนใจพุทธศาสนาสายทิเบตจากการได้เห็นพิธีกรรมอันน่าตื่นตา เรื่องลี้ลับที่มีมนตร์ขลังต่างๆ แต่จะดีกว่าไหม ถ้าเราได้เข้าใจ "สัญ" หรือความหมายที่อยู่ในตัวพิธีกรรม เพราะเมื่อเราได้เข้าใจในความหมายเหล่านี้ยิ่งขึ้น เราจะระลึกได้ถึงพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่ถ่ายทอดออกมาเป็นสัญลักษณ์ต่างๆ ก็พระธรรมคือคำสั่งสอนของพระองค์นี้เองที่ทรงตรัสว่าจะเป็นศาสดาของสาวก เมื่อพระองค์ปรินิพพานไปแล้ว

ผู้คนจำนวนมากยังมองว่าพุทธศาสนาแบบทิเบตนั้นเป็นเรื่องของมายาศาสตร์ เป็นเรื่องอภินิหารย์ ปะปนด้วยเวทมนตร์นานา ความจริงแล้วเรื่องเหล่านี้ล้วนมีอยู่ในพุทธศาสนาแบบทิเบต(และแบบไทยเอง) แต่เมื่อได้ศึกษาอย่างลึกซึ้งจะเห็นว่า สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงอุปกรณ์ หรือเครื่องช่วยเสริมในบางภาวะเท่านั้น เพระพระพุทธศาสนาแบบทิเบตเองมีแก่นอยู่ที่การปฏิบัติ ด้วยความเข้าใจใน ศูนยตา หรือความว่าง และมุ่งไถ่ถอนกิเลสตนให้เบาบางตามหลักแห่งพระพุทธศาสนาทุกประการ พระลามะผู้มีชื่อเสียงต่างๆ ล้วนเผยแผ่คำสอนที่เน้นลงที่การปฏิบัติ การฝึกตน การชำระจิตใจทั้งสิ้น ส่วนเรื่องปาฏิหารย์ที่มีเข้ามาเพียงเล็กน้อยนั้นก็ล้วนเป็นเรื่องที่อธิบายได้ด้วยการฝึกจิตอย่างดีแล้วนั่นเอง

ข้าพเจ้าจึงหวังว่า การรวบรวมเรียบเรื่ยง เกร็ดความรู้ทางพุทธศิลป์ของข้าพเจ้านั้น น่าจะเป็นประโยชน์แก่ผูสนใจในพุทธศาสนาแบบทิเบต และผู้ที่เป็นนักปฏิบัติด้วย ทั้งนี้เอง ข้าพเจ้าก็เป็นเพียงผู้ศึกษาตัวเล็กๆ มิใช่ผู้ชำนาญอย่างโปรเฟสเซอร์ ข้าพเจ้ายังเป็น"เสขะ" อยู่ จึงถือว่าการรวบรวมนี้เป็นการนำข้อมูลมาบันทึกไว้ เพื่อที่ความหลงลืมจะได้ไม่ครอบงำข้าเจ้าไปในวันหนึ่งเสียก่อนด้วย