วันศุกร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2550

พระธยานิพุทธ หรือ พระชินะพุทธทั้งห้า

สัมโภคกาย
คือกายอันรุ่งเรืองด้วยรัศมีของพระพุทธเจ้า เป็นพระกายที่ทรงปรากฏเพื่อตรัสสอนพระโพธิสัตว์ต่างๆ ดังนั้นจึงทรงปรากฏเป็นจำนวนมากมายจนไม่อาจนับได้ แต่มีห้าพระองค์ที่เป็นหลักสำคัญทีสุด ซึ่งกำหนดไว้ด้วยสัญลักษณ์ สี และธาตุต่างๆ ดังนี้

พระไวโรจนะ
พระวรกายสีขาว สัญลักษณ์ของธาตุน้ำ(อันใสสะอาด)ในมณฑลของพระชินะพุทธทั้งห้า พระองค์จะประทับอยู่ใจกลาง
ทรงมุทราธรรมจักร จึงอยู่ในวงศ์* แห่งตถาคต(คือผู้หมุนธรรมจักร)
(*สายการแบ่งพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ต่างๆเพื่อให้จดจำง่ายขึ้นว่าพระโพธิสัตว์องค์นั้นๆเป็นนิรมาณ หรือเป็นกายเนรมิตจากพระพุทธเจ้าพระองค์ใด)
ในพุทธศาสนามนตรยานของญี่ปุ่น(เทนได และชินกอน) พระองค์ได้รับการบูชาเป็นหลักมากยิ่งกว่าพระอาทิพุทธและพระพุทธเจ้าพระองค์อื่น
ด้วยพระนามของพระองค์มีนัยแฝงถึงแสงอันรุ่งโรจน์ เกี่ยวเนื่องกับพระอาทิตย์อันเป็นต้นกำเนิดแห่งทุกสรรพสิ่ง


พระไวโรจนะพุทธ


ไดนิชิ เนียวไร หรือ พระไวโรจนะพุทธ ศิลปะญี่ปุ่นพุทธศตวรรษที่19


ธรรมจักร มุทราแบบ อินเดีย, ทิเบต


ธรรมจักรมุทราแบบ ญี่ปุ่น

พระอมิตาภะ
พระวรกายสีแดง สัญลักษณ์ของธาตุไฟ ในมณฑลของพระชินะพุทธทั้งห้า พระองค์จะประทับอยู่ทิศตะวันตก
ทรงมุทราสมาธิ อยู่ในวงศ์แห่งปัทมะ(คือดอกบัว)
ในพระธยานิพุทธทั้งห้าพระองค์นั้น พระอมิตาภะเป็นที่รู้จักมากที่สุด พระสูตรจำนวนมากที่ถือกันว่าได้รับการถ่ายทอดมาจากพระองค์ ทั้งยังทรงเป็นพระธยานิพุทธแห่งพระพุทธเจ้าศากยมุนี(พระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบัน) จึงทำให้พระองค์ได้รับการบูชาอย่างแพร่หลายโดยเฉพาะในทิเบต จีน นิกายที่บูชาพระองค์โดยเฉพาะได้แก่นิกายสุขาวดี (จิ่งทู่จง ในจีน, โจโดชู ในญี่ปุ่น)พระสูตรที่สำคัญซึ่งบรรยายถึงพุทธเกษตรของพระองค์ไว้อย่างงดงามได้แก่ สุขาวดีวยุหสูตร


พระอมิตาภะในพุทธเกษตรสุขาวดี ศิลปะแบบทิเบต
ซ้ายของภาพคือพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ ขวาคือพระวัชรปาณิโพธิสัตว์ หากเป็นคติจีนและญี่ปุ่น พระวัชรปาณิจะถูกแทนที่ด้วยพระมหาสถามปราปตโพธิสัตว์


พระรัตนสัมภวะ
พระวรกายสีเหลือง สัญลักษณ์ของธาตุดิน ในมณฑลของพระชินะพุทธทั้งห้า พระองค์จะประทับอยู่ทิศใต้
ทรงมุทราวร(ประทานพร) อยู่ในวงศ์แห่งรัตนะ
รัตน มีนัยความหมายถึง พระรัตนตรัย นอกจากนี้ยังมีนัยถึงดวงจิตที่ตรัสรู้อีกด้วย


พระอักโษภยะ
พระวรกายสีน้ำเงิน สัญลักษณ์ของธาตุอากาศ ในมณฑลของพระชินะพุทธทั้งห้า พระองค์จะประทับอยู่ทิศตะวันออก
ทรงมุทราภูมิสปารศ(มารวิชัย) อยู่ในวงศ์แห่งวัชร ด้วยพระนามมีความหมายถึงความหนักแน่น ไม่หวั่นไหว อันเป็นคุณลักษณะของวัชระ พุทธเกษตรของพระองค์อยู่ทางทิศตะวันออกชื่อว่า อภิรติ แต่รู้จักกันน้อยกว่าสุขาวดีของพระอมิตาภะ


พระอโมฆสิทธิ
พระวรกายสีเขียว สัญลักษณ์ของธาตุลม ในมณฑลของพระชินะพุทธทั้งห้า พระองค์จะประทับอยู่ทิศเหนือ
ทรงมุทราอภัย อยู่ในวงศ์แห่งกรรม สัญลักษณ์แห่งวงศ์นี้คือวัชระคู่(วิศววัชระ)



พระธยานิพุทธ ในทิศต่างๆ ในภาพนี้พระอโมฆสิทธิ(เขียว)คือทิศเหนือ

ไม่มีความคิดเห็น: